ต่างประเทศ
‘ยูเอ็น’ เผย แก๊งอาชญากรรมใช้สื่อโซเชียล ‘เทเลแกรม’ ทำปฏิบัติการในอาเซียน
รายงานล่าสุดจากองค์การสหประชาชาติเปิดเผยว่า เครือข่ายอาชญากรรมทรงอิทธิพลหลายกลุ่มในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้แอปพลิเคชันส่งข้อความ “เทเลแกรม” อย่างกว้างขวางเพื่อขยายปฏิบัติการผิดกฎหมายขนานใหญ่อย่างมีนัยสำคัญ ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานดังกล
รายงานล่าสุดจากองค์การสหประชาชาติเปิดเผยว่า เครือข่ายอาชญากรรมทรงอิทธิพลหลายกลุ่มในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้แอปพลิเคชันส่งข้อความ “เทเลแกรม” อย่างกว้างขวางเพื่อขยายปฏิบัติการผิดกฎหมายขนานใหญ่อย่างมีนัยสำคัญ ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์
รายงานดังกล่าวที่ได้รับการเปิดเผยออกมาในวันจันทร์นำเสนอคำกล่าวหาครั้งใหม่ต่อแอปที่มีการเข้ารหัสและตกเป็นเป้าจับตาดูอย่างหนักนี้ หลังรัฐบาลฝรั่งเศสเพิ่งเดินเรื่องยื่นฟ้องพาเวล ดูรอฟ ผู้ก่อตั้งสื่อสังคมออนไลน์นี้ ในข้อหาที่ว่าทำการเปิดช่องทางให้มีการก่ออาชญากรรมบนแพลตฟอร์มดังกล่าว
สำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office for Drugs and Crime - UNODC) ผู้จัดทำรายงานนี้ระบุว่า อาชญากรรมที่เกิดขึ้นผ่าน “เทเลแกรม” นั้นมีอาทิ การแฮกข้อมูลเช่น รายละเอียดบัตรเครดิต พาสเวิร์ดและประวัติการท่องเว็บ (browser history) เพื่อนำไปซื้อ-ขายกันอย่างเปิดเผย
นอกจากนั้น ยังมีการขายเครื่องมือการก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์ต่าง ๆ เช่น ซอฟต์แวร์ดีฟเฟค (deepfake) เพื่อนำไปใช้สร้างข้อมูลหลอกลวงทั้งหลายและมัลแวร์ (malware) สำหรับการล้วงขโมยข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งบริการฟอกเงินผ่านสกุลเงินคริปโตที่ไม่มีใบอนุญาต บนแอปเทเลแกรมด้วย
รายงานชิ้นนี้ระบุด้วยว่า มี “หลักฐานแน่นหนาที่พิสูจน์เรื่องของตลาดข้อมูลใต้ดินที่ขยับขยายไปยังเทเลแกรม และการที่ผู้ขายพยายามจับกลุ่มองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างแข็งขัน”
UNODC กล่าวว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้กลายมาเป็นศูนย์กลางสำคัญของอุตสาหกรรมมูลค่าหมื่นล้านดอลลาร์ที่มีเหยื่อทั่วโลกเป็นเป้าหมายหลักของการดำเนินแผนการต้มตุ๋นทั้งหลาย โดยหลายองค์กรต่าง ๆ ที่ว่านั้นมีสัญชาติจีนที่ปฏิบัติการจากพื้นที่ที่เป็นเหมือนป้อมปราการและมีคนที่เป็นเหยื่อค้ามนุษย์ทำงานอยู่ภายใน
อุตสาหกรรมดังกล่าวทำเงินได้ถึงปีละ 27,400 ล้านดอลลาร์-36,500 ล้านดอลลาร์เลยทีเดียว ตามข้อมูลของ UNODC
รอยเตอร์ติดต่อไปยังเทเลแกรมซึ่งมีผู้ใช้งานเกือบ 1,000 ล้านคนแล้ว แต่ไม่ได้รับการตอบกลับก่อนการตีพิมพ์รายงานข่าวนี้
ที่มา: รอยเตอร์