ต่างประเทศ
สะท้อนเสียงผู้ปกครองไทย-ความปลอดภัยรถโรงเรียนสหรัฐฯ หลังไฟไหม้รถทัศนศึกษาในไทย
เหตุเพลิงไหม้รถโดยสารทัศนศึกษาของนักเรียนโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม จ.อุทัยธานี ที่คร่าชีวิตนักเรียนและครู 23 ชีวิตเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สร้างความสะเทือนใจให้กับผู้คนในสังคมไทยและชุมชนชาวไทยในสหรัฐฯ และยังทำให้มีการพูดถึงมาตรการความปลอดภัยของ
เหตุเพลิงไหม้รถโดยสารทัศนศึกษาของนักเรียนโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม จ.อุทัยธานี ที่คร่าชีวิตนักเรียนและครู 23 ชีวิตเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สร้างความสะเทือนใจให้กับผู้คนในสังคมไทยและชุมชนชาวไทยในสหรัฐฯ และยังทำให้มีการพูดถึงมาตรการความปลอดภัยของรถขนส่งโดยสารนักเรียนในอเมริกาอีกด้วย
"ก็เสียใจ เสียใจมาก มันเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นเลย...เสียใจ เสียดาย ชีวิตเด็กๆ เค้า คือเรานึกภาพเค้าไม่สามารถ ช่วยเหลือตัวเองได้เลย"
"รู้สึกเสียใจกับเด็กที่เค้าเสียชีวิตไป เพราะเค้าแบบว่า คิดว่า ได้ไปเที่ยวสนุก อยู่ดีๆ ไฟไหม้"
นี่คือเสียงสะท้อนจาก ธนพร เตชวุฒิวัฒน์ และมิยู ปุญชรัสมิ์ นิลตะสุวรรณ์ สองแม่ลูกชาวไทยในลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา ที่มีต่อเหตุสะเทือนใจ หลังเหตุการณ์เพลิงไหม้รถโดยสารทัศนศึกษาของนักเรียนโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม จ.อุทัยธานี เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา เป็นเหตุให้มีเด็กนักเรียนและครูเสียชีวิตรวมกันทั้งสิ้น 23 ราย
เหตุโศกนาฏกรรมดังกล่าว ไม่เพียงแต่จะสร้างความโศกเศร้าและความกังวลให้กับพ่อแม่ผู้ปกครอง แต่ยังทำให้สังคมพูดถึงปัญหาเรื่องความปลอดภัยและมาตรการป้องกัน และมีการหยิบยกรถรับส่งเด็กนักเรียนในอเมริกา ว่าเป็นตัวอย่างที่หลายฝ่ายอยากให้ลองศึกษา
ดวงกมล สิทธิวีระกุล หญิงไทยในเมืองนอร์ธฮอลลีวูด รัฐแคลิฟอร์เนีย ส่งลูกชาย ไรย์โอ อัศวิน ลา วัย 7 ขวบ ขึ้นรถโรงเรียนเป็นประจำทุกเช้า เธอบอกกับ VOA Thai ว่าช่วงแรกมีความกังวลอยู่บ้าง แต่เมื่อลูกชายสามารถปรับตัวได้ และได้เห็นความปลอดภัยของระบบจัดการรถโรงเรียน ก็สบายใจที่จะปล่อยให้ลูกชาย ซึ่งเป็นเด็กพิเศษ โดยสารรถโรงเรียนทั้งขาไปและขากลับ
"ก็คือเขาเหมือนผ่านการอบรมอะไรมาดีแล้วทีนี้ รถโรงเรียนที่นี่ รถคันไหนมาหรือรถโรงเรียนหยุด รถโรงเรียนเป็นคันแรกที่แบบว่าได้สิทธิก่อนเป็นอันดับแรกเลย" ดวงกมลกล่าวกับวีโอเอไทย
"มาเป็นคนขับนี่เขาก็ต้องตรวจสอบหรือว่ามีการเทสการอะไรที่เหมือนความปลอดภัย ความชัวร์อะไรของทางโรงเรียนเพื่อว่าเด็กต้องเซฟที่สุด เขาจะต้องให้เด็กนั่งแล้วก็รัด belt (เข็มขัดนิรภัย) ให้เรียบร้อย เช็คทุกที่นั่ง"
ไม่เพียงแต่การเดินทางไปโรงเรียนปกติ ดวงกมล ก็เคยให้ลูกชายเดินทางไปทัศนศึกษาหรือ Field Trip นอกสถานที่กับเพื่อนๆ โดยใช้รถโรงเรียนแบบเดิม ซึ่งมีคุณครูและผู้ปกครองอาสาสมัครคอยดูแล
"โรงเรียนนี้เขามี field trip (ทัศนศึกษา) บ่อย คือไปบางทีไปมิวเซียม (พิพิธภัณฑ์) ไปเหมือนแบบพาเด็กไปทัศนศึกษาก็เคยไปนั่งเฝ้าเขาดูว่าขึ้นรถเป็นไงเขา ถึงครูจะน้อยหน่อยแต่เด็กเขาจะมีระเบียบ แล้วไปก็มีทุกปี บางทีปีละครั้ง สองครั้งแล้วแต่...แต่ก็มีกังวลหน่อยๆ ตอนแรกก็ว่าจะขับรถตามแต่ก็คือแบบว่าเชื่อใจในทางโรงเรียนเพราะว่าเขาน่าจะ Professional พอ"
เช่นเดียวกับ เอมอร สังวาลย์พานิช คุณแม่ลูกสามในรัฐแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า เธอรู้สึกเป็นห่วงเพียงเล็กน้อยที่จะส่งลูกสาววัย 8 ขวบไปทัศนศึกษานอกเขตลอสแอนเจลิส แต่ด้วยระบบความปลอดภัย และการให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วม ทำให้ตัดสินใจได้ไม่ยาก
"ที่โรงเรียนเขาก็จะขอความช่วยเหลือจากผู้ปกครองนะคะว่าใครจะไปช่วยได้แล้วถ้าใครจะไปกับ field trip ก็ไปได้ เขาก็จะมีกำหนดว่าให้ไปกี่คนต่อห้องอะไรประมาณนี้ค่ะ...บางครั้งก็ให้ไปนั่งกับรถบัสกับนักเรียนบางทีก็ให้ผู้ปกครองขับตามไป" เธอกล่าว
ด้าน ธนพร เตชวุฒิวัฒน์ ผู้ช่วยครูระดับชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียน Grant Elementary ในลอสแอนเจลิส บอกกับวีโอเอไทยว่า จากประสบการณ์ในการทำงานมา 6 ปี เคยได้สัมผัสการเดินทางไปทัศนศึกษากับเด็กๆ มาแล้ว ซึ่งจะมีการจัดปีละอย่างน้อย 1 ครั้ง โดยโรงเรียนจะได้รับเอกสารยินยอมจากผู้ปกครองก่อนขึ้นรถทุกครั้ง และมั่นใจถึงระบบ ของรถโรงเรียนในอเมริกา ที่ถูกออกแบบมารองรับในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อป้องกันการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น
"สีรถบัสของที่นี่มันจะเป็นสีที่เฉพาะเลย จะไม่เคยเห็นรถชนิดอื่นแบบอื่นหรือไม่สามารถมีใครเอาสีอันนี้ไปใช้ในรถของตัวเองหรือบริษัทตัวเองหรืออะไรได้เลยมันจะเป็นชื่อสีว่าเป็น School bus yellow เลย" เธอกล่าว
"รถบัสที่นี่จะมี Exit (ทางออก) หลายที่มาก ก็คือนอกจากที่จะออกทางประตูทางขึ้นข้างหน้าได้แล้วเนี่ยในกรณีที่ถ้าต้องออกทางนั้นก็จะมีด้านข้าง เขาก็จะมีป้ายบอกว่าโอเคมี Exit จะมีด้านบนหลังคา แล้วก็จะมีด้านหลังด้วย พอเราขึ้นไปรถบัสเด็กนั่งเรียบร้อย คนขับเค้าก็จะอธิบายบอกว่า โอเค มี Exit อยู่ตรงนี้ ตรงนี้ถ้าเกิดในกรณีที่สมมติว่าเกิดอะไรขึ้น คนขับเค้าจะบอกไว้ก่อนว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ฉันไม่สามารถ operate (บังคับ) รถได้ ต้องทำอย่างไรบ้าง"
"อีกจุดนึงเลยคือตรงที่เป็น Emergency Exit (ทางออกฉุกเฉิน) ตรงที่ด้านข้าง ติดกับที่นั่ง เค้าจะไม่ให้เด็กนั่ง โดยเฉพาะเด็กเล็ก เค้าจะบอกเลยว่าตรงนี้เป็นผู้ใหญ่นั่ง ครูหรือผู้ปกครองที่ไปด้วยนั่ง แล้วค่อยมีเด็ก เวลาเปิดเนี่ยบางทีเด็กอาจจะตกใจและเปิดไม่ได้เขาจะให้ผู้ใหญ่กับคนนั่งตรงนั้นแทนค่ะ"
ด้านธัญญา ยูน เรียงจารุสมบูรณ์ ผู้อำนวยการแคมป์วัดป่า ค่ายพัฒนาทักษะภาวะผู้นำเพื่อเยาวชนไทยอเมริกัน ที่ก่อตั้งมาแล้ว 16 ปี มองว่า การเกิดและเติบโตในอเมริกา ทำให้เธอได้รับการปลูกฝังเรื่องกฎระเบียบ รวมถึงมาตรการความปลอดภัยจากโรงเรียน บางครั้งการปฏิบัติตามกฎเหล่านี้อาจทำให้รู้สึกยุ่งยาก แต่ในระยะยาว ล้วนเป็นสิ่งที่ดีต่อทุกฝ่าย และการที่อเมริกามีมาตรฐานความปลอดภัยสูง ก็ทำให้คนเดินทางไปไหนมาไหนได้อย่างสบายใจ
ผู้ปกครองชาวไทยในอเมริกาที่พูดคุยกับวีโอเอยังกล่าวทิ้งท้ายว่า การยกระดับความปลอดภัยไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถ หากมุ่งมั่นที่จะทำจริง ๆ และไม่มีใครอยากให้เกิดเห็นโศกนาฎกรรมแบบนั้นอีกในอนาคต
ข้อมูลอ้างอิงจากสมาคมขนส่งและโดยสารนักเรียนแห่งชาติของสหรัฐฯ ระบุว่า ปัจจุบันทั่วอเมริกามีรถโรงเรียนทั้งสิ้น 480,000 คันและมีนักเรียนใช้บริการรถโรงเรียน 27 ล้านคนต่อวัน
ส่วนข้อมูลจาก องค์การบริหารความปลอดภัยการจราจรบนทางหลวงแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ NHTSA พบว่าในช่วง 10 ปี ตั้งแต่ปี 2012-2021 มีรถโรงเรียนที่ประสบอุบัติเหตุถึงขั้นทำให้มีผู้มีเสียชีวิตทั้งหมด 998 เหตุการณ์ และมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 1110 คน หรือเฉลี่ยปีละ 111 คน โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้ที่อยู่ในยานพาหนะคันอื่นที่ชนกับรถโรงเรียน หรือเป็นคนเดินถนน ในขณะที่มีเด็กและเยาวชนในรถโรงเรียนเสียชีวิต 42 คน ในรอบ 10 ปี
ที่มา: สุภกิจ ภัทรธีรานนท์ วีโอเอไทย