Panasonic และ Mazda ร่วมมือกันพัฒนาแบตเตอรี่ Li-ion รุ่นใหม่
motortrivia ● บริษัท พานาโซนิค เอเนอร์จี จำกัด บริษัทในกลุ่มพานาโซนิค และ มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประกาศความร่วมมือในการผลิตแบตเตอรี่ ลิเธียม-ไอออน ทรงกระบอก (แบตเตอรี่เซลล์) เจนเนอเรชั่นใหม่ (next-generation cylindrical automotive lithium-ion
motortrivia
● บริษัท พานาโซนิค เอเนอร์จี จำกัด บริษัทในกลุ่มพานาโซนิค และ มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประกาศความร่วมมือในการผลิตแบตเตอรี่ ลิเธียม-ไอออน ทรงกระบอก (แบตเตอรี่เซลล์) เจนเนอเรชั่นใหม่ (next-generation cylindrical automotive lithium-ion batteries) เพื่อใช้งานในกลุ่มรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของมาสด้าเจเนอเรชั่นถัดไป (BEVs) โดยกำหนดการเปิดตัวรถรุ่นใหม่จะเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2027 เป็นต้นไป
● ความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นไปตามข้อตกลงความร่วมมือก่อนหน้าซึ่งเป็นแผนงานความร่วมมือในระยะกลางถึงระยะยาวของทั้ง 2 บริษัท เบื้องต้นกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่น (Ministry of Economy, Trade and Industry หรือ METI) ได้อนุมัติโครงการความร่วมของทั้ง 2 บริษัทในการขยายกำลังการผลิตแบตเตอรี่ และการพัฒนาเทคโนโลยีเป็นที่เรียบร้อยแล้วในวันเดียวกัน โดยเป็นส่วนหนึ่งของแผนการสร้างแหล่งผลิตแบตเตอรี่ที่มั่นคงของประเทศในอนาคต
จากซ้าย : มร. มาซาฮิโระ โมโร่ ประธาน และซีอีโอ มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น และ มร. คาซูโอะ ทาดาโนบุ ประธาน และซีอีโอ บริษัท พานาโซนิค เอเนอร์จี จำกัด
● เพื่อให้สอดคล้องกับ วิสัยทัศน์ระยะกลาง Sustainable Zoom-Zoom 2030 มาสด้าได้แบ่งแผนงานการพัฒนาการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าออกเป็น 3 เฟส เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงตามกลไกของตลาดและความต้องการของลูกค้า โดยภายในปี 2027 มาสด้าได้วางแผนเปิดตัวรถยนต์พลังงานไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่พัฒนาขึ้นจากแพลทฟอร์มที่ออกแบบมาเพื่อผลิตรถ BEV โดยเฉพาะเป็นครั้งแรก
● ด้านพาโนโซนิค เอเนอร์จี ตั้งเป้าที่จะเพิ่มกำลังการผลิต พร้อมวางแผนผลิตแบตเตอรี่ ลิเธียม-ไอออน ชนิดรูปทรงกระบอกขึ้นที่โรงงานซูมิโนเอะ และคาอิซูกะ ในเมืองโอซาก้า ตั้งแต่ปี 2027 เป็นต้นไป โดยแบตเตอรี่เหล่านี้จะถูกบรรจุเป็นโมดูลโดยฝั่งมาสด้าเอง
● สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ พานาโซนิค เอเนอร์จี ได้วางกำลังการผลิตในประเทศญี่ปุ่นเอาไว้ที่ 10 GWh ต่อปี ภายในปี 2030
● ปัจจุบันรัฐบาลญี่ปุ่นได้กำหนดให้แบตเตอรี่สำหรับเก็บพลังงานไฟฟ้าเป็นทรัพย์สินเชิงกลยุทธ์ เพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และกำลังมุ่งหน้าขยายห่วงโซ่อุปทานของแบตเตอรี่ภายในประเทศ รวมถึงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม ด้วยเหตุนี้ ความร่วมมือระหว่างมาสด้าและพานาโซนิค เอเนอร์จี จึงนับเป็นการช่วยเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานแบตเตอรี่ ลิเธียม-ไอออน ในประเทศญี่ปุ่น พร้อมทั้งขยายและเสริมสร้างฐานการผลิตของญี่ปุ่นอีกด้วย
● นอกจากนี้ ทั้ง 2 บริษัทจะร่วมมือกันต่อไปเพื่อแก้ไขปัญหาทางสังคม เช่น การบรรเทาผลกระทบจากภาวะโลกร้อน, การส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนในภาคอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์และแบตเตอรี่, การสนับสนุนการจ้างงานในท้องถิ่น และการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร
● มร. คาซูโอะ ทาดาโนบุ ประธานและซีอีโอ บริษัท พานาโซนิค เอเนอร์จี จำกัด กล่าวว่า “ด้วยความร่วมมือในครั้งนี้ เรามีแนวโน้มที่จะขับเคลื่อนการขยายกำลังการผลิต BEVs และเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ของญี่ปุ่น ซึ่งเป้าหมายสูงสุดของเราคือการสร้างสังคมที่ยั่งยืน และเรามุ่งมั่นที่จะบรรลุพันธกิจนี้”
● มร. มาซาฮิโระ โมโร่ ประธานและซีอีโอของมาสด้า กล่าวเสริมว่า “มาสด้ามุ่งมั่นที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนและกำลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานไฟฟ้าด้วยแนวทางที่หลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการและวิถีชีวิตของลูกค้า เราจะใช้ประโยชน์จากแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพสูง มีประสิทธิภาพดี และปลอดภัย ซึ่งจัดหาโดยพานาโซนิค เอเนอร์จี และนำเสนอรถยนต์ไฟฟ้าของมาสด้าที่เอกลักษณ์ และมีความสมดุลระหว่างการออกแบบ ความสะดวกสบาย และระยะทางในการขับขี่เพื่อส่งมอบให้กับลูกค้าของเรา”
แผนการจัดหาแบตเตอรี่ ลิเธียม-ไอออน ที่ได้รับการอนุมัติโดย METI
รายการที่ผลิต | แบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออนรูปทรงกระบอกสำหรับรถยนต์ |
ความสามารถในการผลิต | 6.5 GWh ต่อปี (ตามที่คาดการณ์ไว้ในปี 2030; ส่วนกำลังการผลิตเพิ่มเติม) |
เงินลงทุนทั้งหมด | ประมาณ 83.3 พันล้านเยน |
การสนับสนุนด้านการเงิน | ประมาณ 28.3 พันล้านเยน (สูงสุด) |
กิจกรรม | การจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานการผลิต การแนะนำ พัฒนา และปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิต |
หมายเหตุ : ข้อมูลข้างต้นรวมถึงจำนวนเงินลงทุน เงินสนับสนุนของพานาโซนิค เอเนอร์จี ที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาอื่นๆ นอกเหนือจากความร่วมมือนี้
The post Panasonic และ Mazda ร่วมมือกันพัฒนาแบตเตอรี่ Li-ion รุ่นใหม่ appeared first on motortrivia.