เทคโนโลยี
แคลิฟอร์เนียพัฒนา ‘นวัตกรรมแผงฟิล์มลดความร้อน’ หวังต้านภาวะโลกเดือด
บริษัทแห่งหนึ่งในรัฐแคลิฟอร์เนีย กำลังพัฒนา “แผ่นฟิล์ม” เพื่อช่วยลดอุณหภูมิ โดยใช้หลักการแผ่ความร้อนส่วนเกินกลับไปสู่ชั้นบรรยากาศบนท้องฟ้า อุปกรณ์ที่ว่ามีหน้าตาคล้ายกับแผงโซลาร์เซลล์แต่มีหลักการทำงานที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง โดยเมื่อแผงดังกล่าวถ
บริษัทแห่งหนึ่งในรัฐแคลิฟอร์เนีย กำลังพัฒนา “แผ่นฟิล์ม” เพื่อช่วยลดอุณหภูมิ โดยใช้หลักการแผ่ความร้อนส่วนเกินกลับไปสู่ชั้นบรรยากาศบนท้องฟ้า
อุปกรณ์ที่ว่ามีหน้าตาคล้ายกับแผงโซลาร์เซลล์แต่มีหลักการทำงานที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง โดยเมื่อแผงดังกล่าวถูกติดตั้งด้านบนของอาคาร จะช่วยทำให้พื้นที่ในตึกด้านล่างมีอุณหภูมิลดลง
เทคโนโลยีนี้พัฒนามาจากหลักการ "เรื่องระบายความร้อน ด้วยการแผ่รังสี" ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานอื่น ๆ ในการช่วยลดอุณหภูมิ
ความร้อนที่ถูกส่งมาจากดวงอาทิตย์เวลากลางวันนั้น ส่วนใหญ่ชั้นบรรยากาศและวัตถุบนพื้นโลกจะดูดซับไว้ ขณะที่ รังสีความร้อนอินฟราเรด (Infrared) บางส่วนจะเดินทางกลับออกไปในอวกาศผ่านช่องที่เรียกว่า “หน้าต่างชั้นบรรยากาศ” (Atmospheric windows) และแผงฟิล์มที่ว่าก็ถูกพัฒนาขึ้นมาทำหน้าที่ราวกับเป็นบานหน้าต่างที่เปิดช่องให้รังสีความร้อนลอดออกไปได้ ช่วยบรรเทาแม้ในวันที่อากาศร้อนมากที่สุดก็ตาม
อาร์จุน ซาโรยา ซีอีโอ บริษัท สกายคูล ซิสเตมส์ (SkyCool Systems) ที่ตั้งในเมืองเมาเทน วิว (Mountain View) รัฐแคลิฟอร์เนีย อธิบายถึงความเชื่อมโยงว่า “มันคือการโฟกัสไปที่พลังงานอินฟราเรด หรือพลังงานความร้อนที่มีต่อวัตถุ และฉายพลังงานที่มีความยาวคลื่นเฉพาะนี้ ไปยังชั้นบรรยากาศด้านบน”
แผงที่ฉาบด้วยฟิล์มสีเงินสะท้อนเงา ภายในบรรจุของเหลวเอาไว้ และทางบริษัทผู้พัฒนาบอกว่า แผ่นฟิล์มจะช่วยลดอุณหภูมิให้กับของเหลวนี้ได้ราว 5 องศาเซลเซียส
โจเอล รินสกี้ รองประธาน บริษัท SkyCool Systems อธิบายเสริมว่า “(ของเหลวมีเส้นทางการไหล) เป็นวงจรที่ใช้เวลาค่อนข้างนาน ส่วนที่ติดฟิล์มจะช่วยระบายความร้อนให้กับของเหลวขณะที่ไหลผ่าน”
ของเหลวที่เย็นแล้วจะไหลไปยังระบบทำความเย็นของอาคารเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ทำให้พลังงานภายนอกที่จำเป็นสำหรับเทคโนโลยีนี้มีเพียง “ปั๊มขนาดเล็ก” เพื่อช่วยขับเคลื่อนของเหลวให้หมุนเวียน
นอกจากนั้น ซาโรยา ซีอีโอ ของบริษัทแห่งนี้กล่าวด้วยว่า ถ้าร้านขายของชำทั่วไป นำระบบของ SkyCool ไปใช้ จะช่วยประหยัดค่าไฟสำหรับเครื่องทำความเย็นได้ราว 15 – 20%
ยิ่งไปกว่านั้น เทคโนโลยีการทำความเย็นดังกล่าวยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างหลากหลายได้ด้วย ตัวอย่างเช่น โครงการหนึ่งในประเทศอินเดียที่ติดแผ่นฟิล์มด้านบนของรถเข็นขายของริมถนนเพื่อช่วยลดความร้อนและถนอมอายุของผักผลไม้ให้มีความสดยาวนานขึ้น เป็นต้น
ซาโรยา แสดงความหวังว่า หากเราทำให้อาคารต่าง ๆ มีอุณภูมิที่เย็นสบายสำหรับการอยู่อาศัย โดยไม่ต้องใช้น้ำหรือไฟฟ้า นั่นก็จะช่วยเพิ่มกำลังการผลิตให้กับทั่วโลกได้อย่างมหาศาล และที่สำคัญ “อุณหภูมิที่เย็นลง” อาจจะเป็นการช่วยชีวิตผู้คนและเพิ่มความสามารถในการผลิตให้มากขึ้นได้ด้วย
ทุกวันนี้ บริษัท SkyCool Systems กำลังเร่งพัฒนาวัสดุมุงหลังคา โดยตั้งใจที่จะนำไปใช้ในสิ่งปลูกสร้างสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่หลายแห่งอาจจะไม่มีเครื่องปรับอากาศใช้ เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความลำบากของสภาพอากาศที่ถูกยกระดับ จาก “ภาวะโลกร้อน” มาสู่ “ภาวะโลกเดือด” ที่มา: วีโอเอ