เศรษฐกิจ
ประเมินผลกระทบ หลังสหรัฐฯ เพิ่มภาษีแผงโซลาร์ 4 ชาติอาเซียนรอบใหม่
นักวิเคราะห์ชี้ว่า การขึ้นภาษีนำเข้าแผงโซลาร์รอบใหม่ที่สหรัฐฯ นำมาใช้กับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะส่งผลให้ราคาสินค้าในตลาดเพิ่มสูงขึ้นและกำไรจากส่วนต่างของบริษัทผู้ผลิตต่าง ๆ ลดลง ตามรายงานของรอยเตอร์ ภาษีอัตราใหม่ที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ประ
นักวิเคราะห์ชี้ว่า การขึ้นภาษีนำเข้าแผงโซลาร์รอบใหม่ที่สหรัฐฯ นำมาใช้กับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะส่งผลให้ราคาสินค้าในตลาดเพิ่มสูงขึ้นและกำไรจากส่วนต่างของบริษัทผู้ผลิตต่าง ๆ ลดลง ตามรายงานของรอยเตอร์
ภาษีอัตราใหม่ที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ประกาศเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ขยายการใช้นโยบายต่อต้านการทุ่มตลาดกับแผงโซลาร์จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพิ่มเติมจากโซลาร์โมดุล หรือแผงโซลาร์ขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่อกัน
ปิแอร์ เลา นักวิเคราะห์ของสถาบันการเงิน ซิตี้ (Citi) กล่าวว่า มาตรการใหม่นี้เป็นไปตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ซึ่งในระยะยาว ภาษีนี้จะช่วยให้มีการผลิตแผงโซลาร์ในอเมริกามากขึ้นแทนการนำเข้า
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ผู้นี้เชื่อว่าในระยะสั้น ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนี้จะถูกส่งผ่านไปยังผู้บริโภคในสหรัฐฯ ทำให้ราคาสินค้าแผงโซลาร์สูงขึ้นในตลาด
ถือเป็นครั้งที่สองที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ตัดสินใจขึ้นภาษีนำเข้าแผงโซลาร์ ในกรณีการฟ้องร้องที่นำโดยกลุ่มบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์แผงพลังงานแสงอาทิตย์ในสหรัฐฯ อาทิ Convalt Energy Inc., First Solar Inc., Hanwha Qcells USA Inc. และ Mission Solar Energy LLC เพื่อให้ทางการสหรัฐฯ ออกมาสอบสวนการทุ่มตลาดโดยบริษัทคู่แข่งจากจีนและประเทศในอาเซียน 4 ประเทศ
เมื่อเดือนพฤษภาคม กระทรวงพาณิชย์เปิดการสอบสวนข้อกล่าวหากรณีแผงโซลาร์ที่นำเข้าจากกัมพูชา มาเลเซีย เวียดนาม และไทย ฐานมีมาตรการอุดหนุนอย่างไม่เป็นธรรม และจำหน่ายในราคาต่ำกว่าต้นทุน จนกระทบกับความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการอเมริกันในธุรกิจเดียวกันนี้
เมื่อปีที่แล้ว สหรัฐฯ นำเข้าแผงโซลาร์ราว 80% ของจำนวนทั้งหมดจากกัมพูชา มาเลเซีย เวียดนาม และไทย คิดเป็นมูลค่าสูงสุดเป็นสถิติใหม่ที่ 15,000 ล้านดอลลาร์
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้คำนวณอัตราภาษีใหม่เพื่อต่อต้านการทุ่มตลาด อยู่ที่ระดับ 271.28% สำหรับแผงโซลาร์จากเวียดนาม, 125.37% สำหรับสินค้าจากกัมพูชา, 77.85% สำหรับแผงโซลาร์จากไทย และ 21.31% กับสินค้าจากมาเลเซีย โดยบริษัทผู้ผลิตแต่ละแห่งจะเผชิญกับอัตราภาษีแตกต่างกันไป
ยานา ฮริชโก หัวหน้าฝ่ายวิจัยห่วงโซ่อุปทานแผงโซลาร์โลก ของบริษัทที่ปรึกษา WoodMackenzie กล่าวว่า บริษัทที่ได้รับผลกระทบอาจใช้วิธีย้ายฐานการผลิตไปที่ลาวและอินโดนีเซียแทน หรือยอมลดส่วนต่างผลกำไรของตนลง เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ ได้ เนื่องจาก "ต้นทุนการผลิตที่แท้จริงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นไม่ได้สูงขนาดนั้นเมื่อเทียบกับราคาขายในสหรัฐฯ"
ขณะนี้มีรายงานว่า โรงงานผลิตแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีจีนเป็นเจ้าของ ได้เริ่มผุดขึ้นแล้วในลาวและอินโดนีเซีย ซึ่งยังไม่ถูกรวมอยู่ในมาตรการภาษีใหม่ของรัฐบาลสหรัฐฯ แม้ว่าบรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างเชื่อว่าทั้งสองประเทศนี้จะถูกรวมเอาไว้ด้วยเมื่อปริมาณการส่งออกแผงโซลาร์เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ คำสั่งสุดท้ายของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ในกรณีการฟ้องร้องนี้ จะมีออกมาในวันที่ 18 เมษายนปีหน้า ที่มา: รอยเตอร์