มทร.อีสาน โพล แนะประชาชนลงทะเบียนรับวัคซีน หวังลดโอกาสการติดเชื้อโควิด-19
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 ที่ยังอยู่ในสถานการณ์น่ากังวล เนื่องจากพบการติดเชื้อโควิดเพิ่มอีกหลายคลัสเตอร์ อาทิเช่น คลัส
- May 17 2021
- 68
- 6574 Views
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 ที่ยังอยู่ในสถานการณ์น่ากังวล เนื่องจากพบการติดเชื้อโควิดเพิ่มอีกหลายคลัสเตอร์ อาทิเช่น คลัสเตอร์เรือนจำ 8 แห่ง คลัสเตอร์เชียงใหม่ คลัสเตอร์จังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงคลัสเตอร์จังหวัดเพชรบุรี ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อยังคงพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ธุรกิจหลายอย่างซบเซาและบางแห่งต้องปิดตัวลงชั่วคราว เกิดผลกระทบต่อสังคมไทยในวงกว้าง ศูนย์บริการวิชาการด้านบริหารธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มทร.อีสาน จึงได้จัดทำแบบสำรวจประชาชนในหัวข้อ สถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด 19 ระลอก 3 ผลกระทบต่อประชาชนและภาคธุรกิจ ในมุมมองของประชาชนในวิกฤตดังกล่าว ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2564 โดยมีผู้ตอบแบบสอบถาม ทั้งสิ้น 420 ราย มีความเห็นว่าประชาชนยังคงมีความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 สูงสุดคือเรื่องการควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศ คิดเป็นร้อยละ 77 รองลงมาคือการจัดระบบสาธารณสุขเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อได้ไม่เพียงพอ ร้อยละ 75 และกว่าร้อยละ 60 พบว่ายังไม่ได้ลงทะเบียนเพื่อฉีดวัคซีน โดยให้เหตุผลว่าขาดความเชื่อมั่นในตัวของวัคซีนที่นำมาให้ประชาชน คิดเป็นร้อยละ 52.4 นอกจากนี้ยังเสนอมาตรการที่ต้องการให้รัฐบาลพิจารณาอย่างเร่งด่วนคือ ระบบสาธารณสุขที่ประชาชนทุกระดับสามารถเข้าถึงเพื่อรักษาได้อย่างทันท่วงที คิดเป็นร้อยละ 77.4 รองลงมาคือการสนับสนุนเครื่องมือและสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ คิดเป็นร้อยละ 61.9
ในส่วนมุมมองของผู้ประกอบการต่อสถานการณ์ดังกล่าว พบว่ามีผู้ตอบแบบสอบถาม 185 ราย มีความเห็นว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งกระทบต่อการดำเนินธุรกิจคือทำให้ยอดขายลดลง คิดเป็นร้อยละ 89.2 รองลงมาคือขาดสภาพคล่อง คิดเป็นร้อยละ 43.2 โดยที่ส่วนมากมีวิธีการรับมือสถานการณ์โควิด 19 คือ การติดตั้งอุปกรณ์เสริมเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด รองลงมาคือการเสนอโปรโมชั่นพิเศษ คิดเป็นร้อยละ 48.6 และ 48.5 ตามลำดับ กว่าร้อยละ 64.9 ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือโดยการพักชำระหนี้ รองลงมาคือลดหย่อนการจัดเก็บภาษี คิดเป็นร้อยละ 62.2 สำหรับข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล คือ เร่งฉีดวัคซีน กระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยเหลือค่าอุปโภค รวมถึงตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการ
นอกจากนี้ มทร.อีสาน ยังได้ส่งบุคลากรจิตอาสาร่วมเป็นสายด่วนรับลงทะเบียนฉีดวัคซีน ณ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ตลอดเดือนพฤษภาคม 2564 เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนทุกคนมาลงทะเบียนรับวัคซีน และขอให้ทุกคนมาร่วมสร้างภูมิคุ้มกันสาธารณะด้วยการเริ่มต้นจากการป้องกันส่วนบุคคลสวมหน้ากากอนามัยก่อนออกจากบ้าน ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล รวมถึงขอเชิญชวนให้ทุกคนลงทะเบียนฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและลดการติดเชื้อโควิด-19 ผมเชื่อว่าเราจะผ่านสถานการณ์นี้ไปได้ด้วยดี ขอเป็นกำลังใจให้พี่น้องประชาชนทุกคนนะครับ ผศ.ดร.วิโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย
ข่าวสำคัญของไทย
ทวิตเตอร์ @easymediaasia